การเลือกซื้อ และประเภทของลวดเชื่อม
หัวใจสำคัญของการเชื่อมประสานอลูมิเนียมให้ประสบความสำเร็จ นอกจากทักษะฝีมือของช่างแล้ว ลวดเชื่อมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานออกมาดีมากที่สุดด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีลวดเชื่อมแล้วจะทำให้งานสำเร็จได้อย่างโดยง่าย เพราะยังจะต้องมีการคำนวนถึงลวดที่เหมาะสมกับงานมาใช้อีกด้วย ซึ่งถ้าหากเลือกผิดมันก็จะส่งผลให้งานเกิดการเสียหายได้
ข้อพิจารณาในการเลือกใช้ลวดเชื่อม
1.คุณสมบัติความแข็งแรงของชิ้นงาน
2.ลักษณะรูปร่าง และความหนาของชิ้นงานเป็นแบบใด หากเป็นงานมีโครงสร้างมีความหนาและมีความซับซ้อนของรูปร่าง ก็ควรจะเลือกใช้ลวดที่มีความเหนียวมากเป็นพิเศษ
3.ชนิดของกระแสไฟก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะลวดเชื่อมบางชนิดจะเชื่อมได้ผลดีกับไฟกระแสตรง หรือบางชนิดก็จะเชื่อมได้ดีกับไฟกระแสสลับ ฉะนั้นผู้ใช้งานจึงควรเลือกลวดให้เข้ากับรูปแบบการใช้ไฟฟ้าให้ดีเสียก่อน
4.ดูก่อนว่างานที่ได้มามีส่วนผสมของโลหะใดบ้าง จากนั้นจึงเลือกลวดเชื่อมที่มีส่วนผสมเหมือนกันกับชิ้นงานนั้น ๆ มาดำเนินการ
ลวดเชื่อมที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 6 แบบ ได้แก่
1.ลวดเชื่อมไส้ฟลักซ์ ( Flux Cored Wire )
มีลักษณะเป็นม้วนแกนกลวง โดยบรรจุด้านในด้วยสารพอกอยู่ภายในลวด ไม่เหมือนกับลวดเชื่อมธูปไฟฟ้าที่ใช้สารพอกอยู่ภายนอกลวดเชื่อม อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นลวดเชื่อมที่มีประสิทธิภาพสูง เชื่อมได้เร็วและสวยงาม มันจึงค่อนข้างมีราคาซื้อขายที่มากเป็นพิเศษ
2.ลวดเชื่อมไฟฟ้าหุ้มฟลั๊กซ์ หรือ ลวดเชื่อมธูป ( Covered Welding Electrode )
เป็นลวดเชื่อมที่ได้รับความนิยมกันมากที่สุด โดยมีลักษณะเป็นก้านคล้ายกับธูป ภายในเป็นลวดโลหะ มีทั้งแบบ เหล็ก และ แบบสแตนเลส ราคาไม่สูงมาก สามารถหาซื้อได้ง่าย มีให้เลือกด้วยกันหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 2.0 , 2.6 , 3.2 , 4.0 ไปจนถึง 5.0
3.ลวดเชื่อมเกาจ์ หรือ ลวดเชื่อมเซาะร่อง ( Gouging Electrode )
ลวดเชื่อมที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถนำมาใช้เพื่อขจัดเนื้อโลหะที่เชื่อมไม่ได้คุณภาพให้มันออกไปจากชิ้นงานได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับงานที่ต้อง เจาะรู เซาะร่อง หรือ การตัด ตัวลวดมีรูปร่างกลม และช่างสามารถใช้เครื่องเชื่อมไฟฟ้าทำความสะอาดแนวเชื่อมเพื่อเตรียมงานให้พร้อมก่อนได้
4.ลวดเชื่อม CO2 (MIG Welding Wire) หรือ ลวดเชื่อมมิก (MIG)
จุดเด่นของลวดชนิดนี้คือ เป็นแบบม้วน ไม่มีสารพอกหุ้มภายนอกไร้เปลือกหรือกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็น แบบเปลือย ข้อดีของมันคือใช้เวลาการเชื่อมที่สั้น แต่ต้องใช้งานกับแก๊สซีโอทู Co2 ( แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ) มีราคาถูก เหมาะสำหรับใช้งานกับงานโลหะโดยทั่วไป
5.ลวดเชื่อมอาร์กอน หรือ ลวดเชื่อมทิก ( Tig Welding Rod )
เป็นลวดเชื่อมเปลือยคล้ายกับลวดเชื่อมมิก แต่จะแยกได้จากรูปร่างที่จำหน่ายเป็นแบบเส้นตรงไม่ม้วน ลวดมีความยาวประมาณ 1 เมตร เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียด มีให้เลือกใช้หลากหลายไม่ว่าจะแบบที่ทำจาก อลูมิเนียม เหล็ก ทองเหลือง สแตนเลส หรือโลหะอื่น ๆ และยังมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 1.6 , 2.0 , 2.4 จนถึง 3.2 มม.
6.ลวดแบบพิเศษ หรือแบบเฉพาะ
หมายถึง ลวดเชื่อมที่ออกแบบและผลิตมาให้เหมาะสมกับงานต่าง ๆ โดยตรง ตัวอย่างเช่น ลวดเชื่อมนิกเกิลอัลลอยด์, ลวดเชื่อมทนแรงดึงสูง, ลวดเชื่อมพอกผิวแข็ง, ลวดเชื่อมประสาน หรือ ลวดเชื่อมไฟฟ้าทองแดง เป็นต้น
ลวดเชื่อมทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนมีราคาและคุณสมบัติที่ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นก่อนจะเลือกซื้อลวด ช่าง ควรจะศึกษาชนิดที่เหมาะกับงานของตนเองเสียก่อน เพื่อเป็นป้องกันไม่ให้ต้องกลับมาเสียเวลาซื้ออันใหม่ในภายหลังนั่นเอง
Credit: https://thatchaiwoodtech.com/